วัดพระธรรมกาย ตอนที่ 1 พระภิกษุสามเณร

วัดพระธรรมกาย ตอนที่ 1 : พระภิกษุสามเณร

>> วัดพระธรรมกายเป็นวัดขนาดใหญ่ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีการบริหารจัดการทันสมัย มีศิษยานุศิษย์จำนวนมากมายมหาศาล แต่ก็เป็นวัดที่มีการกล่าวขานถึงมากที่สุดทั้งแง่บวกและแง่ลบ จึงถือเป็นองค์กรพุทธที่น่าศึกษา 

>> ทางเพจ “พุทธสามัคคี” ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวัดมาจำนวนมาก ก็จะพาท่านผู้อ่านก้าวข้ามภาพมายาที่กลุ่มคนรักและคนเกลียดสร้างขึ้น ติดตามศึกษาวิเคราะห์เจาะลึกวัดพระธรรมกายในทุกแง่มุมอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน เป็นตอนๆ ไป เริ่มจากคณะสงฆ์วัดพระธรรมกาย ศิษย์วัด ญาติโยม คำสอน เจ้าอาวาส แนวคิด วิสัยทัศน์ของวัด จุดอ่อนของวัด 

วัดพระธรรมกาย เริ่มสร้างในปี 2513 ปัจจุบันมีพระภิกษุราว 4,000 รูป สามเณรราว 600 รูป

>>พระภิกษุวัดพระธรรมกาย มีที่มา 3 ทาง คือ

1. มาจากอุบาสก__คือ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางโลกตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีศรัทธาจะบวชตลอดชีวิต ก็ให้มาเป็นอุบาสกรักษาศีล 8 ช่วยงานวัดอย่างน้อย 5 ปี เพื่อพิสูจน์ความตั้งใจจริง เมื่อคณะสงฆ์เห็นว่าพร้อมก็จะอนุญาตให้บวชได้ พระภิกษุรุ่นบุกเบิกของวัดพระธรรมกาย ในช่วง 15 ปีแรกจะมีเส้นทางมาอย่างนี้

2. มาจากธรรมทายาท__คือ ผู้ที่มาอบรมในโครงการอบรมธรรมทายาทและอุปสมบทหมู่ที่ทางวัดจัดขึ้น เมื่อครบกำหนดแล้วมีศรัทธาบวชต่อ รับโดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา แต่จะมีเส้นทางการฝึกอบรมให้เหมาะกับพื้นความรู้เดิม 

ผู้ที่จบการศึกษาทางโลกระดับปริญญาตรีขึ้นไปจะฝึกอบรมตามหลักสูตรพระบวชใหม่ 3 ปี 

ส่วนผู้ที่จบในระดับประถมหรือมัธยมศึกษาฝึกอบรมในหลักสูตร 5 ปี เพื่อให้มีความรู้ธรรมะและความสามารถในการเทศน์สอน เผยแผ่แก่ประชาชนได้ พระภิกษุวัดพระธรรมกายในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากเส้นทางนี้

3. มาจากสามเณร__โดยรับเด็กที่จบชั้นประถม 6 ขึ้นไป มาบวชเรียน ศึกษานักธรรม บาลี หรือ ปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา เมื่ออายุครบ ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

>>เอกลักษณ์ของพระภิกษุสามเณรวัดพระธรรมกาย>>

1. การคัดคนบวช__ ผู้บวชต้องมีความตั้งใจจริง มีความประพฤติดี ไม่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ผู้ที่บวชระยะยาวต้องบวชด้วยอุดมการณ์ มีพระภิกษุที่มีความรู้ประสบการณ์ทางโลกสูง เช่น แพทย์ วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ มากมาย ทำให้เข้าใจโลก สื่อสารกับคนยุคปัจจุบันได้ สามารถช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้านต่างๆ ของวัดได้อย่างดี

2. การฝึกอบรมอย่างจริงจังต่อเนื่อง__มีการฝึกอบรมทั้งการนุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อย กิริยามารยาทในการเดิน การนั่ง การลุก การกราบ การขบฉัน การสรงน้ำ การซักตากและพับเก็บจีวร การอยู่ร่วมกัน ฯลฯ ผู้ที่มาบวชเพราะหวังสบาย จะไม่มาบวชที่วัดพระธรรมกาย เพราะต้องฝึกอบรมอย่างหนัก มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด การงานที่หนักหนา

3. สนับสนุนการศึกษาพระธรรมวินัย__ เกือบทุกรูปจบนักธรรมเอก สนับสนุนการศึกษาภาษาบาลี จนสอบได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศอยู่เนืองๆ มีเปรียญธรรม 9 ประโยคกว่า 60 รูป มากที่สุดในประเทศ สนับสนุนการเรียนพระอภิธรรม เป็นสำนักเรียนพระอภิธรรมหลัก 1 ใน 3 แห่งของประเทศ โดยวัดพระธรรมกายมีการเรียนการสอนบาลีศึกษาต่อเนื่องมากว่า 30 ปี

4. สนับสนุนการปฏิบัติธรรมทำสมาธิ__นอกจากการปฏิบัติธรรมประจำวันแล้ว ในแต่ละปีก็จะมีช่วงเวลาให้ไปนั่งสมาธิต่อเนื่องคราวละ 15 วัน ปีละ 2 ครั้ง ผู้ที่ถนัดก็สามารถเลือกเข้าสายงานปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิต่อเนื่องทั้งวันตลอดปี มีจำนวนราว 200 รูป

5. พระภิกษุทุกรูปจะมีหน้าที่รับผิดชอบงานพระศาสนาตามความถนัดของตน__จะไม่มีใครที่อาศัยวัดอยู่สบายๆโดยไร้หน้าที่การงาน โดยมีหลักคิดว่า “เราบวชมาอาศัยพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องให้พระศาสนาได้พึ่งด้วย” ทางวัดดูแลเรื่องจีวร ที่พักอาศัย ภัตตาหาร การรักษาพยาบาล ทุกรูปไม่ต้องกังวลด้วยปัจจัย 4 แต่ต้องช่วยกันรับผิดชอบงานส่วนรวม

6. อยู่รวมเป็นหมู่คณะ__พักในกุฏิหลังละประมาณ 10 รูป มีการโยกย้ายกุฏิทุกปีเพื่อไม่ให้ติดที่ และทำให้ไม่สะสม มีเฉพาะของใช้จำเป็น ที่ไม่เป็นภาระในการโยกย้าย ในยุคเริ่มต้นพักอาศัยในหมู่กุฏิจาก จุได้ราว 500 รูป 

ต่อมาเมื่อจำนวนพระภิกษุมากขึ้น กุฏิจากชั้นเดียวไม่พออยู่ พระภิกษุส่วนที่เพิ่มขึ้นก็พักในตึกสงฆ์ที่สร้างขึ้นทางสูง เพื่อประหยัดพื้นที่ดิน แต่ยังคงรักษารูปแบบการอยู่รวมกันห้องละประมาณ 10 รูป และโยกย้ายทุกปี แต่ละรูปมีเตียงไม้ 1 เตียง และตู้ 1 ตู้เท่านั้น ไม่มีแอร์ ไม่มีตู้เย็น ไม่มีทีวี ไม่มีเครื่องเสียง สิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ห้องน้ำใช้ห้องน้ำรวม

7. อยู่ร่วมกันแบบสามัคคีธรรม__เหมือนเป็นพี่น้องกัน เพราะเป็นพุทธบุตร เป็นลูกพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เจ็บป่วยไข้ไม่สบายก็ช่วยกันดูแล แม้บางรูปครอบครัวเดือดร้อน โยมพ่อโยมแม่ป่วยไข้ไม่สบาย พระเพื่อนๆก็จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนครอบครัวเดียวกัน

8. ปกครองกันโดยธรรม__หมู่คณะที่ใหญ่มีสมาชิกถึง 4,000 รูป ก็ย่อมมีผู้ประพฤติไม่เหมาะสมปนอยู่เป็นธรรมดา แม้ในสมัยพุทธกาลก็มี ซึ่งเมื่อมีเหตุอะไรเกิดขึ้นทางวัดจะมีคณะวินัยธรตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงโทษตามควรแก่กรณี โดยศึกษาแนวทางจากพระวินัยปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้

>> โดยภาพรวม แนวทางการฝึกอบรม การอยู่ร่วมกันของพระภิกษุวัดพระธรรมกาย ยึดหลักสิกขา (การศึกษาอบรมตลอดชีวิต) ตามที่พระพุทธเจ้าทรงวางแนวทางไว้ และสามารถตอบโจทย์ของสังคมปัจจุบันที่ต้องการพระภิกษุที่มีความสามารถในการเผยแผ่ธรรม มีศีลาจารวัตรงดงามได้ดี

<<โจทย์ที่ท้าทาย>>

>> คณะสงฆ์วัดพระธรรมกายมีคุณสมบัติตรงกับสิ่งที่สังคมกำลังเรียกร้องต้องการ คือ บวชด้วยอุดมการณ์ มีการฝึกอบรมเข้มข้น นุ่งห่มเรียบร้อย มีศีลาจารวัตรงดงาม มีความรู้ความสามารถในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำงานเป็นทีม มีการเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่สะสม ทุ่มเทความรู้ความสามารถเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

>> แต่ภาพเหล่านี้สังคมไม่ได้รับรู้ เห็นแต่ภาพอาคารสิ่งปลูกสร้างใหญ่โต พิธีกรรมสงฆ์ที่มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก หรือหยิบยกกรณีพระภิกษุของวัดเพียงบางรูปที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม มาขยายจนสังคมเข้าใจผิดคิดว่า พระวัดพระธรรมกายโดยรวมเป็นเช่นนั้น

>> จึงเป็นเรื่องท้าทายว่า คณะสงฆ์วัดพระธรรมกายจะสามารถสื่อให้สังคมเข้าใจตนตามเป็นจริงได้อย่างไร

>> หากวัดทั่วประเทศมีกระบวนการในการคัดคนบวช การฝึกอบรมพระ และให้การศึกษาพระธรรมวินัยอย่างต่อเนื่องอย่างที่วัดพระธรรมกายทำ ก็จะเป็นประโยชน์มากต่อการพัฒนาคุณภาพสงฆ์

หมายเหตุ ขอขอบคุณพระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส วัดพระธรรมกายที่ให้ข้อมูล

ท่านที่เห็นว่าผลงานของวัดหรือองค์กรพุทธใด ควรจะเป็นแบบอย่างได้ โปรดส่งข้อมูลอย่างละเอียดพร้อมภาพมาที่กล่องข้อความของเพจ เพื่อทางเพจจะได้ ตรวจสอบ ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม วิเคราะห์ เรียบเรียง เพื่อนำเสนอต่อสาธารณะต่อไป


ที่มา facebook เพจ พุทธสามัคคี



Previous
Next Post »